ผู้วิจัย : พระครูวิมลธรรมรังสี ,ดร.พระมหาบาง เขมานนฺโท และพระมหาวิชาญ สุวิชาโน
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแบบสอบอารมณ์กัมมัฏฐานของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ เพื่อเปรียบเทียบอารมณ์กัมมัฏฐานระหว่างก่อนและหลังปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน และ เพื่อเปรียบเทียบอารมณ์กัมมัฏฐานจากการประเมินตนเองของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับอารมณ์กัมมัฏฐานจากการสอบอารมณ์ของพระวิปัสสนาจารย์ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
๑.ประเด็นคำถามที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการสอบอารมณ์กัมมัฏฐานมีจำนวน ๔๖ ข้อ ดัชนีวัดความสอดคล้องระหว่างประเด็นคำถามกับเนื้อหาที่ต้องการจะวัด (IOC) มีค่าอยู่ในช่วง ๐.๗๖ - ๑.๐๐ ดัชนีวัดอำนาจจำแนกของแบบสอบอารมณ์กัมมัฏฐานมีค่าอยู่ในช่วง ๐.๔๖ - ๐.๗๖ ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของ Cronbach ของแบบสอบอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งฉบับมีค่าเท่ากับ ๐.๙๖ เนื่องจากดัชนี IOC, ดัชนีวัดอำนาจจำแนก และค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของ Cronbach ค่าสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ดังนั้น แบบสอบอารมณ์กัมมัฏฐานที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจึงเป็นแบบสอบที่มีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือสูง
๒. ผลการเปรียบเทียบอารมณ์กัมมัฏฐานก่อนและหลังการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน พบว่าอารมณ์กัมมัฏฐานด้านกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหลังปฏิบัติมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าอารมณ์กัมมัฏฐานก่อนปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ (t = ๘.๑๑, P = ๐.๐๐) อารมณ์กัมมัฏฐานด้านเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานหลังปฏิบัติมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าอารมณ์กัมมัฏฐานก่อนปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ (t = ๔.๖๓, P = ๐.๐๐) อารมณ์กัมมัฏฐานด้านจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหลังปฏิบัติมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าอารมณ์กัมมัฏฐานก่อนปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ (t = ๖.๙๐, P = ๐.๐๐) อารมณ์กัมมัฏฐานด้านธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานหลังปฏิบัติมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าอารมณ์กัมมัฏฐานก่อนปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ (t = ๔.๘๗, P = ๐.๐๐)
๓. ผลการเปรียบเทียบคะแนนสอบอารมณ์กัมมัฏฐานจากการประเมินตนเองของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับคะแนนที่ได้จากการสอบอารมณ์โดยพระวิปัสสนาจารย์ พบว่า คะแนนสอบอารมณ์กัมมัฏฐานด้านกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ได้จากการประเมินตนเองของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับคะแนนสอบอารมณ์กัมมัฏฐานที่ได้จากการประเมินโดยพระวิปัสสนาจารย์ มีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ ๐.๐๕ (t = -๐.๐๓, P = ๐.๙๖) คะแนนสอบอารมณ์กัมมัฏฐานด้านเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ได้จากการประเมินตนเองของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับคะแนนสอบอารมณ์กัมมัฏฐานที่ได้จากการประเมินโดยพระวิปัสสนาจารย์ มีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่ากันที่ระดับนัยสำคัญ ๐.๐๕ (t = ๐.๐๔ , P = ๐.๙๖) คะแนนสอบอารมณ์กัมมัฏฐานด้านจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ได้จากการประเมินตนเองของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับคะแนนสอบอารมณ์กัมมัฏฐานที่ได้จากการประเมินโดยพระวิปัสสนาจารย์ มีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ ๐.๐๕ (t = ๐.๑๔ , P = ๐.๘๘) คะแนนสอบอารมณ์กัมมัฏฐานด้านธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ได้จากการประเมินตนเองของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับคะแนนสอบอารมณ์กัมมัฏฐานที่ได้จากการประเมินโดยพระวิปัสสนาจารย์ มีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ ๐.๐๕ (t = -๐.๐๕, P = ๐.๙๘)
ดาวน์โหลด |